ถั่งเฉ้า คือ สมุนไพรจีนที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดอยู่ร่วมกัน อันได้แก่ เห็ดหรือเชื้อราขนาดใหญ่ ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cordyceps Sinensis กับหนอนผีเสื้อที่ชื่อ Hepialus Armoricanus Oberthiir สปอร์ของเห็ดดังกล่าวจะขึ้นจากหัวของตัวดักแด้หรือตัวอ่อนของหนอนผีเสื้อ ซึ่งฝังตัวอยู่ใต้ดินในฤดูหนาว เมื่อหนอนตายในฤดูใบไม้ผลิ เห็ดก็จะเจริญขึ้นโดยอาศัยดูดสารอาหารจากตัวหนอนมาใช้

ถั่งเฉ้า”(ถั่ง = หนอน, เฉ้า = หญ้า) หรือที่เรียกว่า “หญ้าหนอน” ก็เพราะว่าในฤดูหนาวเป็นหนอน ในฤดูร้อนเป็นหญ้า บนที่ราบสูงทิเบต ตัวหนอนของผีเสื้อค้างคาวหรือผีเสื้อกะโหลก(Hepialus armoricanus) จะเจริญเติบโตอยู่ใต้ผิวดินบนภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ โดยมีสปอร์ของเชื้อเห็ดรา(Ophiocordyceps sinensis) กระจายอยู่ทั่วไป เมื่อหิมะละลายสปอร์จะไหลไปกับน้ำและซึมลงใต้ผิวดิน เมื่อหนอนกินสปอร์ของเชื้อเห็ดชนิดนี้เข้าไป สปอร์ก็จะงอกเป็นเส้นใยเจริญเติบโตบนตัวหนอน เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึงอุณหภูมิสูงขึ้น เส้นใยรวมตัวหนาแน่นขึ้นก็จะแทงออกจากปากตัวหนอนที่ตายแล้วแข็งเป็นมัมมี่ ออกเป็นดอกเห็ดมีลักษณะเหมือนหญ้างอก โผล่เหนือพื้นดินเพราะต้องการแสง กลายเป็นขุมทองของชาวทิเบต เพราะอาจขายได้ถึงตัวละ 750 บาท

“ถั่งเฉ้า” (อ่านออกเสียงตามภาษาจีนกลาง) หรือ “ดอง ชอง โช” หรือ “หญ้าหนอน” หรือ “Cordyceps” เป็นเห็ดราชนิดหนึ่ง มีแหล่งกำเนิดบนทุ่งหญ้าธิเบตเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 3,500 – 6,000 เมตร ราชนิดนี้เกาะติดบนตัวด้วงจำพวก ผีเสื้อ หนอน มอด ตั๊กแตน หรือด้วงค้างคาว ตัวหนอนอ่อนที่มีรานี้อยู่ ฤดูหนาวจะมุดเข้าไปอยู่ใต้ดินและค่อย ๆ กลายเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “Sclerotia” ในช่วงเวลานี้เปลือกนอกของตัวหนอนเป็นตัวสมบูรณ์ แต่เมื่อถึงฤดูร้อน ราจะค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นมีลักษณะคล้ายต้นหญ้า จึงเรียกว่า “หนาวเป็นหนอน ร้อนเป็นหญ้า “ หรือ “ตงฉงเซี่ยเฉ้า”

ในคัมภีร์สมุนไพร โดยเฉพาะของหมอจีนชื่อดัง หลี่สือเจิน ใน “เปิ๋นเฉ่ากังมู” (สารานุกรมสมุนไพร) เมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อน ได้มีการบันทึกสมุนไพรนี้ในชื่อ “ตงฉงเซี่ยเฉ่า” (สำเนียง ภาษาจีนกลาง ส่วน “ถั่งเฉ้า” เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว) หมายถึง “หนาวหนอนร้อนหญ้า” เพราะหน้าหนาวจะเป็นหนอนดักแด้ พอหน้าร้อนจะเป็นสมุนไพรประเภทเชื้อราที่งอกขึ้นมาบนหัวของตัวหนอนดักแด้ที่ตายแล้ว และเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า “ฉงเฉ่า” (หญ้าหนอน) เพียงกล่าวอ้างถึงเล็กน้อยเท่านั้นว่า “ยาอุ่น ไร้พิษ บำรุงรักษาเสริมประสิทธิภาพเลือดลม” ไม่ได้มีการอธิบายมากมายอะไรนัก

กระทั่งมาถึง หมอจีนในสมัยราชวงศ์ชิง ชื่อ อู๋อี้ลั่ว ได้มีการบันทึกไว้ในหนังสือเกี่ยวกับสมุนไพรของท่านที่ชื่อว่า “เปิ๋นเฉ่าฉงซิน” (สมุนไพรบันทึกใหม่) ได้มีการกล่าวถึง ฉงเฉ้า ค่อนข้างมาก และพูดถึงประสิทธิภาพที่ค่อนข้างชัดเจนมากขึ้นว่า “รสกลมกล่อม อุ่น บำรุงร่างกาย บำรุงปอด บำรุงไต ลดอักเสบ หยุดอาการไอ และไอเรื้อรัง บำรุงร่างกายหลังคลอดบุตร บำรุงสมรรถนะทางเพศ”

ชาวทิเบตและชาวเนปาล เป็นผู้ที่รู้จักถั่งเฉ้าก่อน คนทิเบตเรียกว่า “yartsa gumbu” (ยาร์ตซา กูมบู) ส่วนคนเนปาลเรียกว่า “yarsha gumbu” (ยาร์ซา กูมบู) หมายถึง ยาวิเศษแห่งยอดขุนเขา เพราะต้องไปเสาะแสวงหาจากยอดดอยสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 3,500 เมตรขึ้นไป ต้องค่อย ๆ คลานหาจากบนพื้นอย่างยากลำบาก ราคาจึงแพงมหาศาล ซี่งนอกจากใช้บำรุงร่างกาย รักษาอาการโรคต่าง ๆ แล้ว ที่ฮืออาที่สุดเห็นจะเป็นเนื่องจากว่า ถั่งเฉ้า ได้ชื่อว่าเป็นราชาสมุนไพรแห่งการเสริมสมรรถนะทางเพศนั่นเอง

ถั่งเฉ้าแท้ จะมีราคาสูงมากจึงมีการทำปลอมออกมาอยู่ในตลาดสมุนไพรมากด้วยเช่นกัน ถั่งเฉ้าแท้ให้สังเกตตรงหัวหนอนจะเป็นมัน และขาหนอนธรรมชาติจะไม่เรียงตัวกันสวยงามเหมือนของปลอมที่ทำจากเครื่องจักร และยังมีหญ้าหนอนที่ชาวจีนเรียกว่า เหอผานดงเซียเช่า(Her Pan Dong Xia Cao) เหมือนหญ้าหนอนทิเบตมาก(Ophiocordyceps sinensis) แต่ไม่มีสรรพคุณทางยาเลย

หญ้าหนอน มีการค้นพบแล้วมากกว่า 300 ชนิด แต่มีไม่กี่ชนิดที่มีสารออกฤทธิ์หรือสารสำคัญ ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร ในเอเชียมีการค้นพบที่เขตปกครองพิเศษทิเบต จีน เนปาล ภูฏาน เกาหลี เวียดนามและไทย

ถั่งเฉ้าที่มีชื่อเสียง มีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่

  • เห็ดถั่งเฉ้าทิเบต(Ophiocordyceps sinensis หรือชื่อเดิม cordyceps sinensis)
  • เห็ดถั่งเฉ้าสีทอง (Cordyceps militaris)
  • เห็ดถั่งเฉ้าหิมะ(ถั่งเช่าเกาหลี) (Isaria tenuipes หรือชื่อเดิม Paecilomyces tenuipes)
  • เห็ดถั่งเฉ้าจักจั่น (ว่านจักจั่น) (Isaria sinclairii หรือชื่อเดิม Paecilomyces cicadae)

จากการศึกษาและงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้พบถึงประสิทธิภาพของถั่งเฉ้าในด้านต่างๆ ได้แก่

  • ต้านเชื้อแบคทีเรีย
  • เสริมภูมิต้านทาน ป้องกันเป็นภูมิแพ้
  • ต้านเซลล์มะเร็ง
  • ต้านอาการอักเสบ
  • ลดคอเลสเตอรรอลชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL)
  • บำรุงไต ต่อมหมวกไต เสริมสมรรถนะทางเพศ
  • บำรุงกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ลดน้ำตาลในหลอดเลือด
  • บำรุงปอดและระบบทางเดินหายใจ ระงับอาการไอ
  • ผ่อนคลายอาการเครียดและการตึงตัวของผนังหลอดเลือด
  • บำรุงตับให้แข็งแรง
  • ชะลอความแก่ บำรุงผิวพรรณ

สารสำคัญที่มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ทางยาในถั่งเฉ้า ประกอบด้วย

  • กรดคอร์ไดเซปิก(Cordycepic Acid) กรดเฉพาะตัวของถั่งเฉ้า ที่เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการการเผาผลาญสารอาหาร(เพิ่มเมตาโบริซึมของร่างกาย) จึงทำให้ร่างกายแข็งแรง คนป่วยจะฟื้นตัวได้รวดเร็ว ไม่เหนื่อยง่าย(เหมาะกับการใช้บำรุงนักกีฬาอย่างยิ่ง) ป้องกันเลือดออกในสมอง ละลายลิ่มเลือด ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด และรักษาอาการหอบหืด
  • คอร์ไดเซปิน(Cordycepin) เป็นสารเฉพาะตัวของถั่งเฉ้าที่เพิ่มประสิทธิภาพในระบบการไหลเวียนเลือด ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรค มีฤทธิ์บำรุงไต เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของโลหิต
  • Cordycep sterol สารสเตียรอลธรรมชาติเฉพาะตัวของถั่งเฉ้า (ไม่ใช่ สเตียรอลสังเคราะห์ จึงไม่เป็นอันตราย ช่วยป้องกันอาการอักเสบ โดยเฉพาะรักษาอาการไตอักเสบ ป้องกันโรคหอบหืด เพิ่มประสิทธิภาพของการบีบตัวของหัวใจ เสริมประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อหัวใจ และรักษาโรค SLE หรือโรคลูปัส (อาการที่ร่างกายแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง)
  • อะดีโนซีน (Adenosine) ต้านการแข็งตัวของเลือด นั่นคือสลายลิ่มเลือด หรือต้านการเกิดลิ่มเลือด
  • Polysaccharides โพลีแซคคาไรด์(เบต้า-กลูแคน : β-Glucan) ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด มีความน่าจะเป็นในการลดการโตของเนื้องอก และเซลล์มะเร็ง ยืดอายุและชะลอความเสื่อมของเซลล์ ลดคอเลสเตอรอล ลดไตรกลีเซอไรด์

รสชาติของถั่งเฉ้า มีรสหวานและอุ่น นอกจากสารสำคัญต่างๆ แล้ว ถั่งเฉ้า ยังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น โปรตีน, ไฟเบอร์, นิวคลีโอไซด์ (สารประกอบที่จะแปรเปลี่ยนเป็น นิวคลีโอไทด์ เพื่อเสริมบำรุงดีเอ็นเอ(DNA) และอาร์เอ็นเอ(RNA) ในการเสริมช่วยการเจริญเติบโตของร่างกาย), ไขมัน (เป็นไขมันสูงถึง 82.2% ที่เป็นกรดไขมันอิ่มตัว และกรดไขมันไม่อิ่มตัว), มีกรดอะมิโนถึง 18 ชนิด, วิตามิน บี12, ไนอาซิน รวมถึงแร่ธาตุอีกมาก เช่น สังกะสี ทองแดง โครเมี่ยม แมงกานีส

กรดถั่งเฉ้า (cordycepic acid) และสารถั่งเฉ้า (cordycepin) มีสรรพคุณในการช่วยบำรุงร่างกาย สำหรับผู้ที่มีร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง หรืออยู่ในช่วงฟื้นไข้ อีกทั้งช่วยบำบัดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า แก้ไอ หอบหืด ช่วยละลายเสมหะ ช่วยระงับประสาท ทำให้นอนหลับสนิท ช่วยปรับการทำงานของกระเพาะอาหารให้เป็นปกติ รักษาอาการปวดเอว บำรุงปอด และบำรุงไต ป้องกันการลดจำนวนของเม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยที่ต้องรักษาโรคด้วยเคมีบำบัด และรังสีบำบัด ช่วยปรับความสมดุลในการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค คลายกล้ามเนื้อ คลายเครียด แก้โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ แก้ปวดเข่า จนถึงรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น

จุดเด่นของ ถั่งเฉ้า ก็คือ บำรุงปอด นั่นหมายถึง ถั่งเฉ้าจะช่วยในการบำบัดโรคที่เกี่ยวกับปอด ฟื้นฟูอาการภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจ บำรุงไตให้แข็งแรง รวมถึงการบำรุงกล้ามเนื้อหัวใจให้แข็งแรง เมื่อการสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนดี ทำให้ระบบหลอดเลือดและเลือด มีพลังการไหลเวียนที่ดี เมื่อระบบการไหลเวียนเลือดดี จึงทำให้สุขภาพร่างกายโดยรวมแข็งแรงตามไปด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสือเห็ดถั่งเช่า, ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล, ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส(เห็ด) องค์การสหประชาชาติ

https://www.facebook.com/Dr.Somyot, นพ.สมยศ กิตติมั่นคง

น.ส.พ.กสิกร ปีที่ 86 ฉบับที่ 5 กันยายน-ตุลาคม 2556 โดย วิโรจน์ แก้วเรือง